บทกลอนสำหรับเด็ก

  

บทกลอนสำหรับเด็ก

ประวัติความเป็นมา

ความเป็นมาของเพลงกล่อมเด็กหรือเพลงกล่อมลูก เป็นวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อและค่านิยมของคนในท้องถิ่นต่างๆ ทั้งในทุกชาติทุกภาษาในโลกก็จะมีบทเพลงกล่อมเด็ก สันนิษฐานว่าเพลงกล่อมลูกหรือเพลงกล่อมเด็กมีวิวัฒนาการของเพลงมาจากการเล่านิทานให้เด็กฟังก่อนนอนในลักษณะคำกลอนหรือเป็นเพลงกล่อม ซึ่งจะเป็นกลอนชาวบ้านไม่มีแบบแผนแน่นอน จะมีเพียงแต่สัมผัสคล้องจอง ถ้อยคำที่ใช้ในบางครั้งอาจจะไม่มีความหมายเนื้อเรื่องก็จะเป็นเกี่ยวกับธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม หรือเรื่องราวต่างๆที่เกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ ซึ่งสะท้อนให้เห็นความรัก ความห่วงใย

https://sites.google.com/site/phelngklxmdekpimchanok/_/rsrc/1382152838775/prawati-khwam-pen-ma/%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%8F%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A2.jpg?height=300&width=400

        เพลงกล่อมลูกถือเป็นคติชาวบ้านที่ใช้ภาษาเป็นสื่อ เป็นวรรณกรรมที่ไม่มีการเขียนหรือบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรแต่อาศัยการท่องจำและบอกเล่าตกทอดจากรุ่นปู่รุ่นย่าสู่รุ่นพ่อรุ่นแม่ สืบทอดไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน  ความสำคัญของเพลงกล่อมเด็กเป็นเพลงที่ทำให้พ่อแม่ได้มีความใกล้ชิดกับลูกได้ใช้เสียงในการสะท้อนให้เห็นการสอนในเรื่องของภาษา สำเนียงให้ติดหูก่นนอนทำให้หลับง่าย  ก่อนนอนของเด็กเป็นช่วงสำคัญและการให้เด็กหลับอย่างมีความสุข หลับสนิท เด็กก็จะมีช่วงของการตื่นที่สดชื่น ไม่ร้องโยเย การที่แม่จะเล่าอะไรให้ลูกฟังหรือเอื้อนเอ่ยจะเป็นสำเนียงหรือการเล่าเรื่องราวทำให้เกิดความอบอุ่นและความสุขแก่ลูกขณะกำลังหลับและหลับสนิทอย่างมีความสุข

เพลงกล่อมเด็ก หรือบทเห่กล่อมเด็ก เริ่มต้นขึ้นในหน่วยเล็กที่สุดของสังคม คือ ครอบครัว เมื่อมี    เด็กเกิดใหม่ในบ้าน พ่อแม่ปู่ย่าตายาย และญาติๆ ก็จะช่วยกันเลี้ยงดู และเห่กล่อมให้เด็กนอนหลับพักผ่อน บางครั้งก็อาจเป็นการปลอบ ให้เด็กหยุดร้องไห้ เนื่องจากเพลงกล่อมเด็กเกิดขึ้นมาจากความรักความผูกพัน และการเลี้ยงดูเด็ก ที่ดำเนินควบคู่ไปพร้อมกับวิถีชีวิตในทุกครอบครัว บทเพลงกล่อมเด็กจึงมีอยู่ในทุกชาติ   ทุกภาษาทั่วโลก สังคมไทยเรา ก็มีเพลงกล่อมเด็กที่ใช้เห่กล่อมจดจำสืบต่อกันมาจากรุ่นพ่อแม่ จนถึง           รุ่นลูกรุ่นหลาน ซึ่งแต่เดิมยังไม่มีการรวบรวมจดบันทึก เป็นหนังสือหรือตำรา จึงไม่ปรากฏหลักฐานที่บ่งบอกว่า เพลงกล่อมเด็กเพลงแรกเกิดขึ้นเมื่อใด และใครเป็นผู้แต่งเพลงกล่อมเด็กบทใด

http://kanchanapisek.or.th/kp6/pictures39/b39p49b.jpg

การสาธิตการร้องเพลงกล่อมลูกของทุกชาติทุกภาษา ซึ่งจัดเป็นประจำทุกปี

ณ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จังหวัดนครปฐม

การเห่กล่อมและปลอบเด็กน่าจะเริ่มต้นจากการเปล่งเสียงเอื้อนยาวซ้ำๆ เช่น เอ่...เอ๊... อื่อ...อื๊อ หรือ ฮา...เอ้อ... หรือ ฮึม... ฯลฯ ในขณะที่ผู้ใหญ่ไกวเปลให้เด็กนอน หรือเมื่ออุ้มเด็กแนบไว้กับอกและโยกตัวเบาๆ โดยออกเสียงเอื้อนกล่อมไปพร้อมๆ กับลูบหลัง หรือตบก้นเด็กเบาๆ ไปด้วย เพื่อให้เด็กฟังเพลินจนหลับไป หรือหยุดร้องไห้ จากการเปล่งเสียงเอื้อนดังกล่าวนี้ ต่อมา จึงได้มีการแต่งถ้อยคำบทสั้นๆ เพิ่มเป็นหลายบท จนในที่สุดก็มีเพลงกล่อมเด็กที่ร้อยกรองเป็นบทเห่กล่อมที่ยาวขึ้นอีกหลายเพลง เนื้อเพลงที่คิดแต่งขึ้นนั้นเกิดจากประสบการณ์ของผู้ร้อง โดยเริ่มจากถ้อยคำที่ถ่ายทอดความรัก ความห่วงใย ความเอ็นดู บางบทเป็นการหยอกล้อ ปลอบ หรือขู่ เพลงกล่อมเด็กในบางท้องถิ่นมีเนื้อหาเชิงสั่งสอนอบรมเด็กให้มีความประพฤติดี บางเพลงใช้สำนวนเสียดสีประชดประชันเพื่อตักเตือนไม่ให้ทำความชั่ว บทเห่กล่อมเด็กหลายเพลงหยิบยกธรรมชาติและชีวิตสัตว์ มาผูกเรื่องเล่าเป็นนิทาน บางเพลงได้นำเรื่องราวจากนิทานพื้นบ้าน หรือตำนานของท้องถิ่นมาแต่งเป็นบทกลอนกล่อมเด็กด้วย จึงทำให้มีผู้สันนิษฐานไว้อีกทางหนึ่งว่า เพลงกล่อมเด็ก น่าจะมีวิวัฒนาการมาจากการเล่านิทานหรือนิยายให้เด็กฟัง ในเวลาก่อนนอน เพื่อให้เด็กเกิดความเพลิดเพลิน และรู้สึกอุ่นใจว่า ขณะที่นอนหลับไม่ได้อยู่คนเดียว ยังมีผู้ใหญ่อยู่ด้วย

เพลงกล่อมเด็กของไทยเป็นเพลงที่ชาวบ้านในท้องถิ่นทั่วทุกภาคร้องสืบต่อกันมาเป็นระยะเวลานาน โดยอาศัยการฟังและจดจำ ไม่ได้มีการจดบันทึกไว้เป็นตัวหนังสือ จึงอาจมีบางเพลงที่เนื้อร้องผิดเพี้ยนแตกต่างไปบ้างแม้จะเป็นเพลงชื่อเดียวกัน จนมาถึงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีผู้รวบรวมเพลงกล่อมเด็กของไทยไว้เป็นหลักฐานครั้งแรก ชื่อว่า นายโมรา หรือ เปโมรา* แต่งหนังสือชื่อ ฉันท์เยาวพจน์ พิมพ์ออกเผยแพร่ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๗ โดยได้นำบทร้องกล่อมเด็ก คำร้องเล่นของเด็ก และคำร้องเบ็ดเตล็ดต่างๆ มาตั้งเป็นบทกระทู้ แล้วแต่งบทร้อยกรองเป็นบทขยาย เช่น

บทกล่อมเด็ก

     แม่ศรีเอย    แม่ศรีสาหงส์    เชิญเจ้ามาลง  

  เอาแม่สร้อยทอง

     เชิญปี่เชิญกลอง    เชิญแม่ทองศรีเอย

บทขยายของเปโมราแต่งเป็นกลอนสุภาพ

     แม่ศรีสาหงส์มาลงร้อง    

ทรงนางสร้อยทองอย่าเชือนเฉย

เชิญทั้งปี่กลองของเคย        

เชิญแม่ทองศรีเอยมาไวไว

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรง     ราชานุภาพ ขณะทรงดำรงตำแหน่งสภานายกหอพระสมุดสำหรับพระนคร ทรงปรารภว่า ได้รับการสอบถามอยู่เสมอๆ ว่า เมื่อใด จะมีการรวบรวมเพลงสำหรับเด็กนำมาตีพิมพ์เหมือนอย่างประเทศอื่นบ้าง จึงได้ทรงมอบหมายให้หลวงธรรมาภิมณฑ์ (ถึก  จิตรกถึก) รวบรวมบทกล่อมเด็ก บทปลอบเด็ก และบทเด็กเล่นของมณฑลกรุงเทพฯ โดยนำมาจากผลงานของเปโมรา ที่จัดพิมพ์ไว้ และค้นคว้ารวบรวมจากที่อื่นๆ จนได้บทร้องจำนวน ๑๖๘ บท สำหรับการจัดพิมพ์ครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๓  ซึ่งในการพิมพ์ครั้งนั้นได้จัดแบ่งบทร้อง หรือเพลงสำหรับเด็กเป็น ๓ หมวดใหญ่ คือ

  • พวกคำเห่ให้เด็กนอน (บทกล่อมเด็ก)

  • พวกคำปลอบให้เด็กชอบ (บทปลอบเด็ก)

  • พวกคำเด็กร้องเล่น (บทเด็กเล่น)

  ดังนั้น แม้หนังสือที่ตีพิมพ์ครั้งแรกนี้ใช้ชื่อว่า บทกลอนกล่อมเด็ก ฉบับสอบ แต่หมายรวมถึง บทร้องหรือเพลงสำหรับเด็กทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะเพลงกล่อมให้เด็กนอนเท่านั้น

http://kanchanapisek.or.th/kp6/pictures39/b39p52.jpg

หนังสือบทกลอนกล่อมเด็ก บทปลอบเด็ก และบทเด็กเล่น เป็นหนังสือบทเพลงสำหรับเด็ก                              สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงให้รวบรวมและจัดพิมพ์

เนื่องจากบทกล่อมเด็ก ๑๖๘ บท เป็นเพียงบทกลอนที่รวบรวมได้จากเขตมณฑลกรุงเทพฯ เท่านั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงถือว่าเป็นฉบับสอบ ซึ่งหมายถึง ฉบับที่ใช้สำหรับการตรวจสอบ จึงโปรดให้นายแห เจ้าของโรงพิมพ์ไท ให้ความอนุเคราะห์จัดพิมพ์ขึ้น ๑๕๐ ฉบับ แจกจ่ายไปตามโรงเรียนในหัวเมืองมณฑลต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อให้ "เจ้าพนักงานอำนวยการโรงเรียน" เสาะหาเพลงที่ใช้ร้องกันในจังหวัดของตน คัดลอกส่งมา ทำให้ทรงสามารถรวบรวมเพลงสำหรับเด็ก ซึ่งเป็นบทเพลงพื้นบ้านสั้นๆ ได้ทุกมณฑล รวมแล้วกว่า ๑,๐๐๐ บท นำมาจัดพิมพ์เป็นหนังสือ บทกลอนกล่อมเด็ก ฉบับพิมพ์ ครั้งที่ ๒ (ครั้งที่ ๑ คือ ฉบับสอบ) เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าหญิง (โต) และ หม่อมเจ้าชาย (พอ) ในพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนสิงหวิกรมเกรียงไกร เมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๔๖๕

ตัวอย่างจาก บทกลอนกล่อมเด็ก ฉบับพิมพ์ ครั้งที่ ๒ (พ.ศ. ๒๔๖๕)

บทเห่เด็ก

เจ้าเนื้อละมุน

     เจ้าเนื้อละมุนเอย            

เก็บดอกพิกุลยามเย็น

เก็บมาร้อยกรอง ให้แม่ทองข้าเล่น        

เนื้อเย็นแม่คนเดียวเอย

เจ้าทองดี

     เจ้าทองดีเอย                 

ถือพัชนีโบยโบก

ขวัญข้าวเจ้าอย่ามีโรค                 

จะโบกลมให้เจ้านอน

ขวัญอ่อนแม่คนเดียวเอย

บทปลอบเด็ก

โงกเงก*

     โงกเงกเอย     น้ำท่วมถึงเมฆ     กระต่ายลอยคอ    

อ้ายหมาหางงอ       กอดคอโงกเงก

บทเด็กเล่น

ใครอิ่มก่อน

     ใครอิ่มก่อน    ดูโขนดูหนัง    ใครอิ่มทีหลัง    

ล้างถ้วยล้างชาม

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงให้รวบรวมและจัดพิมพ์เพลงสำหรับเด็ก เป็นบทกลอนสั้นๆ ใช้ถ้อยคำที่ง่ายๆ แต่ไพเราะกินใจ ที่สำคัญคือ เป็นหลักฐานที่ดีเยี่ยมและสมบูรณ์แบบ      เล่มหนึ่ง ผู้ศึกษาค้นคว้าเรื่องเพลงพื้นบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับเพลงเด็กสามารถใช้เป็นหนังสืออ้างอิงทางวิชาการ ทั้งยังมีการตีพิมพ์เผยแพร่ซ้ำต่อมาอีกหลายครั้ง จนถึงปัจจุบัน

*บทปลอบเด็กนี้ ต่อมาคำร้องได้เปลี่ยนไป คำว่า "โงกเงก" เพี้ยนเสียงเป็น "โยกเยก" ซึ่งเป็นบทร้องที่คุ้นหูมาจนปัจจุบัน

ประเภทของเพลงกล่อมเด็ก

เพลงกล่อมเด็กของไทยแบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ ๒ ประเภท คือ

๑) เพลงกล่อมเด็กของราษฎร์ หรือเพลงกล่อมเด็กชาวบ้าน

๒) เพลงกล่อมเด็กของหลวง หรือเพลงกล่อมเด็กราชสำนัก  

การแบ่งเพลงกล่อมเด็กดังกล่าวนี้  ถือเป็นการแบ่งโดยอาศัยพื้นที่ สถานที่ และกลุ่มคนซึ่งร้องเพลงกล่อมเด็ก คือ เพลงกล่อมเด็กของชาวบ้าน แต่งขึ้นร้องกันอยู่ในบ้านเรือนของตน เพื่อให้เด็กที่เป็นลูกหลานฟัง เป็นเพลงที่แพร่หลาย ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ส่วนเพลงกล่อมเด็กของหลวง แต่งขึ้น เพื่อให้พระพี่เลี้ยงนางนมหรือข้าหลวงใช้ขับกล่อมถวาย พระราชโอรส พระราชธิดา เฉพาะในราชสำนักเท่านั้น และจากหลักฐานที่มีบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรสันนิษฐานได้ว่า เพลงกล่อมเด็กของหลวงน่าจะเกิดขึ้นภายหลังเพลงกล่อมเด็กชาวบ้าน

๑. เพลงกล่อมเด็กของราษฎร์ หรือเพลงกล่อมเด็กชาวบ้าน

เพลงกล่อมเด็กของราษฎร์ หรือเพลงกล่อมเด็กชาวบ้าน ถือเป็นส่วนหนึ่งของเพลงพื้นบ้าน เนื้อหา ทำนอง และคำร้อง จึงมีความหลากหลายแตกต่างกันไปตามบริบทของแต่ละท้องถิ่น คือ สภาพแวดล้อม สังคม ความเชื่อ ประเพณี รวมทั้งภาษาถิ่น ดังนั้น การเรียกชื่อเพลงกล่อมเด็กจึงแตกต่างกัน ดังนี้

ภาคกลาง เรียกว่า เพลงกล่อมเด็ก หรือ เพลงกล่อมลูก

ภาคเหนือ เรียกว่า เพลงอื่อ เพลงอื่อลูก เพลงอื่อ จา จา เพลงสิกก้องก๋อ เพลงสิกจุ่งจา 

ภาคอีสาน เรียกว่า เพลงก่อมลูก เพลงนอนสาหล่า เพลงนอนสาเยอ เพลงนอนสาเด้อ

ภาคใต้ เรียกว่า เพลงร้องเรือ เพลงช้าเรือ เพลงชาเรือ เพลงชาน้อง เพลงช้าน้อง หรือเพลงน้องนอน

๑) ลักษณะและเนื้อหาของเพลงกล่อมเด็กชาวบ้าน  

เพลงกล่อมเด็กเกิดขึ้นจากชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน เริ่มต้นขึ้นในครอบครัว โดยพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่คนใดคนหนึ่ง ที่เลี้ยงดูเด็กเป็นผู้คิดคำร้องใช้เห่กล่อมลูกหลานของตนภายในบ้านก่อน ต่อมาเมื่อบทเพลงใดมีความไพเราะติดหูผู้ได้ยินได้ฟัง ก็จดจำและนำไปร้องต่อในชุมชนจนแพร่หลายกว้างขวางยิ่งขึ้น และใช้ร้องกล่อมเด็กสืบต่อกันมารุ่นต่อรุ่น ทั้งนี้ แม้ว่าเนื้อเพลงกล่อมเด็กของแต่ละท้องถิ่นอาจใช้ถ้อยคำ สำนวนภาษา และเนื้อหาสาระที่แตกต่างกันไป ตามสำเนียงภาษาถิ่น สภาพสังคม และค่านิยมความเชื่อ หากแต่เพลง        กล่อมเด็กก็มีลักษณะและเนื้อหาทั่วไปที่คล้ายคลึงกัน สรุปได้ดังนี้

ก. ฉันทลักษณ์ไม่ตายตัว เช่นเดียวกับเพลงพื้นบ้านของไทยทั่วไป ส่วนใหญ่เป็นบทเพลงสั้นๆ ที่มีสัมผัสคล้องจองกัน ความยาวของบทเพลงไม่แน่นอน มีเพลงสั้นๆ ที่คำร้องเริ่มตั้งแต่  ๔-๕ วรรค จนถึงเพลงที่ยาวเกิน ๑๐ วรรค ขึ้นไป จำนวนคำในแต่ละวรรคก็ไม่ได้กำหนดตายตัวเช่นกัน คือเริ่มตั้งแต่วรรคละ ๔-๖ คำ อาจมีบางวรรคที่ยาวกว่า ๖ คำ ตัวอย่างเช่น

http://kanchanapisek.or.th/kp6/pictures39/b39p53a.jpg

http://kanchanapisek.or.th/kp6/pictures39/b39p53b.jpg

ข. ใช้ถ้อยคำ สำนวนภาษาที่เรียบง่าย และตรงไปตรงมา เนื่องจากเป็นบทเพลงที่แต่งขึ้นสำหรับเด็กโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นบทกล่อมเด็ก บทปลอบเด็ก และบทเด็กเล่น เด็กที่ฟังก็มีตั้งแต่เด็กทารกที่ยังพูดไม่ได้จนถึงเด็กที่หัดพูด บทร้องที่ผู้ใหญ่แต่งขึ้นจึงพยายามใช้คำง่ายๆ ที่เกี่ยวกับกิริยาอาการในชีวิตประจำวัน ชื่อต้นไม้ ชื่อสัตว์ ผูกเป็นประโยคสั้นๆ เมื่อเด็กได้ฟังบ่อยๆ ก็จดจำได้ง่าย และหัดพูดหรือร้องตามได้ เช่น "ถ้าตั้งไข่ล้ม จะต้มไข่กิน ไข่พลัดตกดิน ใครอย่ากินไข่เน้อ" "โยกเยกเอย น้ำท่วมถึงเมฆ กระต่ายลอยคอ อ้ายหมาหางงอ กอดคอโยกเยก" "หมาหางกิด ไต่คันนาด้อมด้อม หมาหางก้อม ไต่คันนาดิดดิด" "...กล้วยเครือใด ดีดีหวานหวาน พ่อแม่เจ้าแอ่วซื้อ หื้อเจ้าลูกหลาน..." "อื่อ จา จา หลับสองตาอย่าไห้..." "...หลับเหียเทอะนา ไก่น้อยจักมาสับตา..." "...แม่ไปไฮ่สิปิ้งไก่มาหา แม่ไปนาสิปิ้งปามาป้อน..."

ค. ท่วงทำนองที่จดจำได้ง่าย และผสมกับการร้องเอื้อนเสียงยาว วัตถุประสงค์หลักของเพลงกล่อมเด็ก คือ ต้องการให้เด็กนอนหลับ และใช้ร้องกันทั่วไปทุกบ้านทุกครอบครัว ดังนั้น ทำนองของเพลงจึงไม่ซับซ้อน จำได้ง่ายๆ ร้องได้ทุกคน โดยผู้ร้องจะใช้น้ำเสียงที่นุ่มเย็น มักเริ่มต้นเพลงหรือลงท้ายวรรคด้วยการเอื้อนเสียงยาว และจบเพลงด้วยเสียงฮึมยาวๆ ในคอ แผ่วเบาลงเรื่อยๆ จนจบ เพื่อให้เด็กเกิดความเคลิบเคลิ้มผล็อยหลับไปในที่สุด

ง. เนื้อหาแสดงออกถึงความรักที่พ่อแม่และญาติผู้ใหญ่มีต่อลูกหลาน ถ่ายทอดความห่วงใย         บอกกล่าวถึงสิ่งดีๆ ที่ตั้งใจทำให้เด็ก ใช้ถ้อยคำปลอบประโลมชักชวนให้เด็กนอนหลับ ตักเตือนไม่ให้ร้องไห้โยเยรบกวนผู้ใหญ่ คำที่ใช้เรียกขานเด็ก ก็เป็นคำที่แสดงถึงความรัก ความเอ็นดู ความน่าทะนุถนอม อ่อนโยน และน่าฟัง หรือเป็นคำที่มีความหมายถึงสิ่งดีงาม มีคุณค่า เช่น ขวัญข้าว ขวัญอ่อน เจ้าเนื้อละมุน เจ้าเนื้ออุ่น         เจ้าเนื้อเย็น เจ้าทองดี เจ้าบุญประเสริฐ แก้วแก่นไท้ ทองคำลูกแม่ เจ้าดวงอุทัยของแม่ ดังตัวอย่างบทเพลงกล่อมเด็กภาคต่างๆ

http://kanchanapisek.or.th/kp6/pictures39/b39p54a.jpg

http://kanchanapisek.or.th/kp6/pictures39/b39p54b.jpg

ในบางครั้งเมื่อไกวเปลเห่กล่อมด้วยเพลงที่อ่อนโยนปลอบประโลมชักชวนให้นอนหลับ แต่เด็กไม่ยอมหลับ    ทั้งยังร้องไห้โยเย เป็นเวลานาน ผู้ใหญ่ก็อาจร้องเพลงที่ขู่ให้เด็กกลัว ดังตัวอย่างบทเพลง

http://kanchanapisek.or.th/kp6/pictures39/b39p54c.jpg

http://kanchanapisek.or.th/kp6/pictures39/b39p55a.jpg


จ. เนื้อหากล่าวถึงธรรมชาติ หรือสิ่งแวดล้อม เนื้อร้องในเพลงกล่อมเด็กของไทยนอกจากมุ่งเน้น ปลอบให้เด็กหลับ และถ่ายทอดความรักความผูกพันที่ผู้ใหญ่มีต่อเด็ก ยังได้นำเรื่องราวจากธรรมชาติ เช่น สัตว์ พืช ฝนตก ฟ้าร้อง แดดออก และสิ่งแวดล้อมที่มีในท้องถิ่นมาแต่งขึ้นเพื่อร้องกล่อมเด็กด้วย ดังตัวอย่าง

http://kanchanapisek.or.th/kp6/pictures39/b39p55b.jpg

ฉ. เนื้อหาเล่าเรื่องราวจากนิทาน ตำนาน และวรรณคดี เพลงกล่อมเด็กได้พัฒนามาจากบทเพลงสั้นๆ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเด็กโดยตรง หรือเรื่องเกี่ยวกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาเป็นบทเพลงที่ยาวขึ้น ซึ่งน่าจะเกิดจาก ผู้ร้องมีประสบการณ์ในการร้องเพลงพื้นบ้านประเภทอื่น และมีความรู้จากการอ่านหนังสือหรือการฟัง จึงนำเนื้อเรื่องจากนิทาน ตำนาน หรือวรรณคดีมาใช้แต่งเพลงร้องกล่อมเด็ก พร้อมกับร้องเพื่อสร้างความเพลิดเพลินให้ตนเองและผู้ฟังคนอื่นๆ ด้วย ดังตัวอย่างต่อไปนี้

http://kanchanapisek.or.th/kp6/pictures39/b39p56a.jpg

http://kanchanapisek.or.th/kp6/pictures39/b39p56b.jpg

http://kanchanapisek.or.th/kp6/pictures39/b39p56c.jpg

http://kanchanapisek.or.th/kp6/pictures39/b39p56d.jpg


ช. เนื้อหาเป็นคติเตือนใจ สะท้อนสังคม ล้อเลียนและเสียดสีพฤติกรรมของคนในสังคม เพลงกล่อมเด็กของชาวบ้านทุกภาค บางเพลงมีเนื้อร้องที่สอดแทรกการอบรมสั่งสอนเด็กให้เป็นคนดี มีศีลธรรม และสอนให้ประพฤติปฏิบัติตนในด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพลงกล่อมเด็กของภาคใต้หลายเพลง ก็สะท้อนความเป็นไปในสังคม คือ บอกเล่าถึงคนที่ประพฤติไม่ดี และอาจถึงขั้นเสียดสีหรือติเตียนการกระทำที่ไม่ดีด้วย ในความเป็นจริงแล้วเด็กเล็กที่นอนแบเบาะ หรือนอนอยู่ในเปลคงยังไม่เข้าใจเนื้อร้องที่ได้ฟัง แต่ผู้ร้องคงตั้งใจอบรมให้เด็กโต ที่อยู่ในบ้าน ได้ยินได้ฟัง และร้องเพื่อสื่อสารให้คนอื่นๆ ในชุมชนได้รับรู้ด้วย

ตัวอย่างเพลงชาน้องของภาคใต้ ที่กล่าวถึงผู้หญิงที่ประพฤติตัวไม่ดี และสอนเรื่องการใช้ชีวิต เมื่อแต่งงานแล้ว

http://kanchanapisek.or.th/kp6/pictures39/b39p57a.jpg

ตัวอย่างจากเพลงกล่อมเด็กของภาคอีสาน ที่กล่าวถึงความขยันขันแข็งของผู้หญิง และกล่าวประชดประชันความหยิบโหย่ง

http://kanchanapisek.or.th/kp6/pictures39/b39p57b.jpg


๒) ลักษณะเฉพาะเพลงกล่อมเด็กชาวบ้านภาคต่างๆ

เพลงกล่อมเด็กของไทย แม้จะมีลักษณะและเนื้อหาที่คล้ายคลึงกันดังกล่าวมาแล้ว หากบทเพลงที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ ก็มีความแตกต่างที่เป็นลักษณะเฉพาะของภาคนั้นๆ ถ้อยคำและสำนวนภาษาแสดงถึงสำเนียงท้องถิ่น บทร้องและเนื้อหา สะท้อนวิถีชีวิตและสภาพสังคม ส่วนท่วงทำนองแสดงถึงนิสัยใจคอของชาวบ้าน ผู้แต่ง และผู้ร้องเพลงกล่อมเด็กได้อย่างชัดเจน ดังจะกล่าวถึงเพลงกล่อมเด็กของชาวบ้านแต่ละภาค ดังนี้

http://kanchanapisek.or.th/kp6/pictures39/b39p57.jpg

เด็กนอนหลับสนิท เมื่อฟังเพลงเห่กล่อม แม้จะยังไม่เข้าใจเนื้อร้องของเพลง

ก. เพลงกล่อมเด็กภาคกลาง บทเพลงกล่อมเด็กภาคกลางส่วนใหญ่เป็นเพลงสั้นๆ ใช้ถ้อยคำเรียบง่ายและคล้องจองกัน มุ่งเน้นการเห่กล่อมให้เด็กนอนหลับ ปลอบให้เด็กหยุดร้องไห้ บอกกล่าวถึงความรัก ความห่วงใย แสดงความเอ็นดู โดยใช้คำเรียกขานเด็ก ที่แตกต่างหลากหลายไป เช่น

http://kanchanapisek.or.th/kp6/pictures39/b39p58c.jpg

นอกจากใช้คำเรียกขานดังบทเพลงข้างต้นแล้ว เพลงกล่อมเด็กภาคกลางหลายบท ยังใช้ชื่อนกชนิดต่างๆ เป็นคำเรียกขานแทนเด็กด้วย เช่น นกกระจิบ นกกระจาบ นกสีชมพู นกเขา นกเขาเถื่อน นกเอี้ยง ดังตัวอย่างเช่น

http://kanchanapisek.or.th/kp6/pictures39/b39p58d.jpg

เพลงกล่อมเด็กภาคกลางไม่ได้เป็นเพียงบทร้องสั้นๆ ที่มีเนื้อหาเห่กล่อมเด็กเท่านั้น แต่ยังนำเรื่องราวจากธรรมชาติ หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมขณะนั้น มาแต่งขึ้นเป็นเพลงใช้ร้องกล่อมเด็ก เพลงที่นิยมร้องแพร่หลายอยู่เกือบทุกจังหวัด ในภาคกลาง และยังมีผู้กล่าวถึงเสมอเมื่อเอ่ยถึงเพลงกล่อมเด็ก คือ เพลง "กาเหว่า" ซึ่งเล่าถึงธรรมชาติของนกกาเหว่า ที่แอบไปไข่ทิ้งไว้ให้แม่กาฟักและเลี้ยงดูลูกแทน ส่วนเพลงอื่นๆ ที่บอกเล่าเรื่องราวในสังคม เช่น เพลง "การะเกด" เพลง "วัดโบสถ์" เพลง "ขนมแฉ่งม้า"

http://kanchanapisek.or.th/kp6/pictures39/b39p59a.jpg

http://kanchanapisek.or.th/kp6/pictures39/b39p59b.jpg

ข. เพลงกล่อมเด็กภาคเหนือ หรือเพลงกล่อมเด็กล้านนา เรียกว่า เพลงอื่อ จา จา (บางตำราว่า อื่อ ชา ชา) ตามเสียงที่เอื้อนออกมาตอนขึ้นต้นเพลง ด้วยการเปล่งเสียงหึ่งออกทางจมูกเพื่อให้เกิดความนุ่มนวล ชวนให้เด็กหลับไปได้ง่าย เนื้อเพลงมีลักษณะคำประพันธ์ไม่ตายตัว และจำนวนคำสัมผัสไม่เคร่งครัดเช่นเดียวกับเพลงพื้นบ้านอื่นๆ การร้องใช้ทำนองร่ำ (ออกเสียงว่า "ฮ่ำ") โดยเอื้อนเสียงทอดยาวที่พยางค์สุดท้ายของวรรค และเปล่งเสียงขึ้นลงตามระดับสูงต่ำ ของเสียงวรรณยุกต์ เพลงกล่อมเด็กภาคเหนือมีร้องกันแพร่หลายมากในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน พะเยา และแม่ฮ่องสอน เนื้อหาของเพลงมุ่งชักจูงให้เด็กนอนหลับ ใช้ถ้อยคำที่มีทั้งการปลอบประโลม ขู่ให้กลัว และติดสินบนให้ของกิน หรือสิ่งต่างๆ แก่เด็ก  เพลงกล่อมเด็กทุกบทจะร้องขึ้นต้นด้วยการออกเสียง "อื่อ จา จา" หรือ "อื่อ อื่อ จา จา"

http://kanchanapisek.or.th/kp6/pictures39/b39p59c.jpg

นอกจากเพลงกล่อมให้เด็กนอนตามที่กล่าวมาข้างต้น ชาวบ้านในภาคเหนือยังมีเพลงร้องเล่น ได้แก่ เพลงสิกก้องก๋อ และ เพลงสิกจุ่งจา* ซึ่งเป็นเพลงที่ผู้ใหญ่ใช้ร้องเล่นกับเด็กเพื่อสร้างความเพลิดเพลิน ทำให้เด็ก       รู้สึกสนุกสนานและสบายใจ เมื่อเล่นเสร็จแล้วพาไปกล่อมนอนก็จะหลับได้ง่าย เพลงร้องเล่นทั้ง ๒ เพลงนี้ มุ่งเน้นความสนุกสนาน คำร้องใช้คำสั้นๆ ให้คล้องจองกัน เนื้อหาเป็นการล้อเล่น ชวนหัวเราะมากกว่าจะสะท้อนเรื่องราวที่เป็นจริง เพลงสิกก้องก๋อ เป็นเพลงที่ใช้ร้องเล่นกับเด็กโดยเฉพาะเด็กทารก โดยมากพ่อจะนอนหงายงอขาพับ แล้วอุ้มลูกวางบนหลังเท้าให้กอดเข่าพ่อไว้ ขณะที่ร้องเพลงสิกก้องก๋อแต่ละวรรค พ่อจะยกขาขึ้นลงตามจังหวะเพลงไปเรื่อยๆ จนถึงวรรคสุดท้าย ทั้งพ่อและลูก จะล้มลงไปนอนด้วยกัน

*ชื่อเพลง สิกก้องก๋อ สิกจุ๋งจา บางตำราใช้ว่า สิกก้องกอ สิกชุ่งชา ส่วนคำว่า "ไป" บางตำราอาจะใช้ "ไพ" ตามรูปอักษรธรรมล้านนา

http://kanchanapisek.or.th/kp6/pictures39/b39p60a.jpg

เพลงสิกจุ่งจา หรือเพลงเล่นชิงช้า เป็นเพลงที่ร้องเมื่อไกวชิงช้าให้เด็กเล่น หรือเด็กที่โตแล้วร้องเล่นไปพร้อมกับโล้ชิงช้า

http://kanchanapisek.or.th/kp6/pictures39/b39p60b.jpg

นอกจากนี้มีเพลงที่เด็กร้องเล่นอื่นๆ เพื่อความสนุกสนานยามว่าง ซึ่งมักเป็นบทเพลงสั้นๆ และใช้ร้องวนไปวนมากี่รอบก็ได้ เช่น เพลงฝนตกสุยสุย เพลงเกี่ยวหญ้าไซหญ้าปล้อง เพลงหมาหางกิด

http://kanchanapisek.or.th/kp6/pictures39/b39p60c.jpg


ค. เพลงกล่อมเด็กภาคอีสาน หรือเพลงก่อมลูก** หรือเรียกตามคำขึ้นต้นเพลงว่า เพลงนอนสาเยอ เพลงนอนสาเด้อ ภาคอีสาน หรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยเป็นดินแดนที่มีพื้นที่กว้างขวางมาก และมีกลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมและภาษาถิ่น แตกต่างกัน แบ่งเป็น ๓ กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มวัฒนธรรมไทย-ลาว ใช้ภาษาถิ่นอีสาน กลุ่มวัฒนธรรมไทยโคราช ใช้ภาษาถิ่นอีสาน แต่มีคำศัพท์และสำเนียงต่างจากกลุ่มแรก และกลุ่มวัฒนธรรมเขมร-ส่วย (กูย) ใช้ภาษาเขมร และภาษาส่วย (กูย) ในที่นี้ จะขอกล่าวถึงเฉพาะเพลงกล่อมเด็กของกลุ่มวัฒนธรรมไทย-ลาว และกลุ่มวัฒนธรรมไทยโคราชเท่านั้น

** เพลงก่อมลูก-เพลงกล่อมลูก ออกเสียงตามภาษาถิ่นอีสาน ไม่มีเสียงควบกล้ำ "กล่อม" เป็น "ก่อม"

http://kanchanapisek.or.th/kp6/pictures39/b39p61.jpg

เนื้อร้องในเพลงกล่อมเด็ก มักสะท้อนถึงสิ่งที่เกี่ยวข้องในชีวิตประจำวัน                                                           เช่น การทำนา ทำไร่ ปลูกต้นหม่อนไว้เลี้ยงตัวไหม สานกระด้ง

เพลงกล่อมเด็กภาคอีสานมักมีท่วงทำนองเรียบง่าย ใช้กลุ่มเสียงซ้ำๆ และแม้จะร้องด้วยจังหวะช้า แต่ก็แฝงน้ำเสียงที่สนุกสนาน จริงใจเป็นธรรมชาติ คล้ายกับเสียงของ "แคน" เครื่องดนตรีประจำถิ่นอีสาน เนื้อหาของเพลงถ่ายทอดความรัก ความห่วงใย โดยมีจุดมุ่งหมายหลัก คือ กล่อมให้เด็กนอนหลับ หรือปลอบให้เด็กหยุดร้องไห้ โดยมักนำสภาพแวดล้อมและธรรมชาติต่างๆ มาสอดแทรกไว้ในคำร้องที่แต่งขึ้น ส่วนเนื้อหาที่สะท้อนภาพสังคมมักกล่าวถึงอาชีพ การทำมาหากิน เครื่องมือเครื่องใช้ ในชีวิตประจำวัน เช่น การทำนา ทำไร่ เลี้ยงม้อน (ตัวหนอนไหม) ปลูกต้นหม่อนไว้เลี้ยงตัวไหม เข็นฝ้าย ทอผ้า นอนอู่ (เปล) วิธีสานกระด้ง

http://kanchanapisek.or.th/kp6/pictures39/b39p61a.jpg

ตัวอย่างเพลงกล่อมลูกโคราชที่บันทึกความรู้ของท้องถิ่น เช่น ตำรายาพื้นบ้านใช้รักษาโรคเด็ก และวิธีสานกระด้ง

http://kanchanapisek.or.th/kp6/pictures39/b39p62a.jpg


ง. เพลงกล่อมเด็กภาคใต้ เรียกว่า เพลงร้องเรือ เพลงช้าเรือ เพลงชาเรือ เพลงช้าน้อง เพลงชาน้อง สันนิษฐานว่า มาจากทำนองร้องที่เป็นไปอย่างช้าๆ เรื่อยๆ เหมือนเรือที่แล่นไปเอื่อยๆ อีกประการหนึ่ง เปลที่เด็กนอนมีรูปร่างเหมือนเรือ คือ ใช้ผ้าผืนยาวหรือผ้าขาวม้าผูกชายไว้ทั้ง ๒ ข้าง และโยงไว้คนละข้าง เมื่อคลี่ตรงกลางนำเด็กลงนอน เวลาไกวก็มีอาการไหว เหมือนลำเรือ ส่วนคำว่า "ชา" น่าจะตัดมาจากคำว่า "บูชา" หมายถึง การสดุดี กล่อมขวัญ ยกย่อง เช่น ชาขวัญข้าว เป็นการสดุดีแม่โพสพ ชาเรือ เป็นการสดุดีแม่ย่านางเรือ ชาน้อง เป็นการขับกล่อมน้อง

ลักษณะคำประพันธ์เป็นกลอนชาวบ้าน โดยทั่วไป ๑ บทมี ๘ วรรค ในแต่ละวรรคมี ๔-๑๐ คำ ตามแต่เนื้อความและบางเพลง อาจมีความยาวถึง ๓๐ วรรคก็ได้ เพลงร้องเรือ หรือชาน้อง ส่วนมากร้องเกริ่นนำด้วยคำว่า "ฮา เอ้อ" และจบท้ายวรรคแรก ด้วยคำว่า "เหอ" เสียงยาวๆ เนื้อหาสาระเป็นการขับกล่อมให้เด็กนอนหลับเร็วๆ และหลับสนิท ด้วยความอบอุ่นทั้งกายและใจ เช่นเดียวกับเพลงกล่อมเด็กภาคอื่นๆ และเมื่อเด็กยังไม่ยอมนอน หรือยังร้องไห้โยเย ก็ร้องบทที่ขู่ให้เด็กกลัวด้วย ดังตัวอย่าง

http://kanchanapisek.or.th/kp6/pictures39/b39p62b.jpg

เพลงกล่อมเด็กภาคใต้ที่มีเนื้อร้องกล่อมให้เด็กนอนโดยตรงมีจำนวนไม่มากนัก ส่วนใหญ่มักแต่งบทร้องให้เป็นคำสอน การประพฤติปฏิบัติตน ปลูกฝังคุณธรรม และสะท้อนเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสังคมด้วย หลายเพลงบอกเล่าถึงคนที่ประพฤติไม่ดี บางเพลงก็ติเตียนผู้ที่ประพฤติตนไม่เหมาะสม และบางเพลงถึงขั้นเสียดสีประชดประชันบุคคลเหล่านั้นด้วย ในความเป็นจริง เด็กเล็กที่นอนแบเบาะ หรือนอนอยู่ในเปลคงยังไม่เข้าใจความหมายของเนื้อร้อง แต่ผู้ร้องคงจะมีเจตนาแฝงที่จะอบรมให้เด็กโต ที่เป็นลูกหลานหรือบริวารในบ้านได้ยินได้ฟัง และร้อง เพื่อสื่อสารให้คนอื่นๆ ในชุมชนได้รับรู้ด้วย แม้ว่าผู้แต่งได้กล่าวไว้ เป็นเชิงออกตัวว่า ร้องเพลงกล่อมหลานไม่เกี่ยวข้องกับใคร ดังเพลงร้องเรือบทหนึ่งว่า

http://kanchanapisek.or.th/kp6/pictures39/b39p63a.jpg


ตัวอย่างเพลงชาน้องที่บอกเล่าถึงการกระทำที่ไม่ดีไม่งามของผู้หญิง

http://kanchanapisek.or.th/kp6/pictures39/b39p63b.jpg

ตัวอย่างเพลงชาน้องที่ติเตียนพฤติกรรมไม่เหมาะสมของพระสงฆ์กับผู้หญิง

http://kanchanapisek.or.th/kp6/pictures39/b39p63c.jpg

ในบรรดาเพลงกล่อมเด็กของไทยมีบทร้องที่รู้จักกันแพร่หลาย และพบว่าใช้ร้องอยู่หลายจังหวัด บางบทเพลงเป็นเพลงชื่อเดียวกัน แต่มีเนื้อร้องแตกต่างกันตามสำเนียง ถ้อยคำภาษาถิ่น ชื่อเรียกสัตว์ พืช สิ่งของ รวมทั้งสภาพแวดล้อมและความเชื่อ ของชุมชนนั้นๆ โดยเฉพาะเพลงกล่อมเด็กของชาวบ้านภาคกลางและภาคอีสาน เช่น เพลง "จันทร์เจ้า" เพลง "นกขมิ้น" และเพลง "นกเอี้ยง"

http://kanchanapisek.or.th/kp6/pictures39/b39p63d.jpg


๒. เพลงกล่อมเด็กของหลวง หรือเพลงกล่อมเด็กราชสำนัก

ประเทศไทยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขปกครองบ้านเมืองมาเป็นระยะเวลายาวนาน ตั้งแต่สมัยสุโขทัย สมัยอยุธยา จนมาถึง สมัยรัตนโกสินทร์ คนไทยยกย่องเทิดทูนพระมหากษัตริย์ในฐานะสถาบันสูงสุดของชาติ และมีคติความเชื่อว่า พระมหากษัตริย์เป็น "สมมติเทพ" คือ เทวดาจุติลงมาจากสวรรค์เพื่อปกครองปวงราษฎรให้มีความร่มเย็นเป็นสุข เมื่อกล่าวถึงพระมหากษัตริย์ จึงมีคำเรียกว่า "เจ้าฟ้า" หรือ "เจ้าแผ่นดิน" หรือ "พระเจ้าแผ่นดิน" ในวัฒนธรรมไทยมีการใช้ภาษาและถ้อยคำ ที่กำหนดเป็นแบบแผน เรียกว่า "ราชาศัพท์" เพื่อกล่าวถึงพระมหากษัตริย์รวมทั้งพระราชวงศ์ นอกจากนี้ การจัดงานพิธีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์โดยตรง หรืองานที่พระมหากษัตริย์โปรดเกล้าฯ ให้จัดขึ้นเพื่อประโยชน์ ของชาติและประชาชน เราเรียกงานเหล่านี้ว่า "พระราชพิธี"

พระราชพิธีหนึ่งซึ่งเกี่ยวข้องกับเพลงกล่อมเด็ก คือ "พระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่" เป็นพิธีทำขวัญ เมื่อพระราชโอรส หรือพระราชธิดา มีพระชนมายุครบ ๑ เดือน เพลงกล่อมเด็กของหลวงที่ใช้ในพระราชพิธีนี้เรียกว่า "บทเห่กล่อมพระบรรทม" และหมายรวมถึง บทเพลงที่แต่งขึ้น ให้ข้าหลวงที่เป็นพระพี่เลี้ยงนางนมร้องเห่กล่อมพระราชโอรส พระราชธิดาที่ยังทรงพระเยาว์ ขณะไกวพระอู่ (เปล) ให้บรรทม การเห่กล่อมนี้ เมื่อยังไม่บรรทมหลับ พระพี่เลี้ยงอาจนำบทเพลงไทยที่เหมาะสม มาร้องต่อบทเห่กล่อมด้วยก็ได้ เช่น เพลงลมพัดชายเขา เพลงนกจาก ซึ่งเป็นเพลงอัตราสองชั้น มาขับกล่อมจนกว่าจะบรรทมหลับ

บทเห่กล่อมพระบรรทมเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ในสมัยใด ไม่มีหลักฐานระบุแน่ชัด แต่บทที่ได้รวบรวมและจดบันทึกไว้ ซึ่งมีสำนวนเก่าสุด คือ สมัยรัชกาลที่ ๒ ตามที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงสันนิษฐานไว้ ในคำนำหนังสือบทเห่กล่อมพระเจ้าลูกเธอ ฉบับพิมพ์ครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙ ว่า

http://kanchanapisek.or.th/kp6/pictures39/b39p65.jpg

บทเห่กล่อมพระบรรทม สมัยรัชกาลที่ ๒ เป็นสำนวนที่เก่าแก่ที่สุด

"...บทข้างต้นๆ สังเกตว่าเป็นสำนวนสุนทรภู่แต่งเมื่อในรัชกาลที่ ๒ แต่จะแต่งถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สำหรับเห่กล่อมพระเจ้าลูกเธอเป็นสามัญทั่วไป หรือจะแต่งสำหรับเห่กล่อมพระเจ้าลูกเธอเฉพาะพระองค์ใดในครั้งนั้น ข้อนี้สงสัยอยู่ แลได้ทราบว่า เมื่อในรัชกาลที่ ๓ นั้น มีเจ้านายหลายพระองค์ คือ พระองค์เจ้าลักขณานุคุณ แลกรมหมื่นอมเรนทรบดินทร์ เป็นต้น ก็ได้ทรงแต่งขึ้นอีกบ้าง จึงไม่กล้ายืนยันแน่ว่า บทเห่กล่อมที่พิมพ์ในสมุดเล่มนี้ บทไหนบ้างที่เป็นของผู้อื่นแต่งนอกจากสุนทรภู่

บทเห่กล่อมเหล่านี้ เห่กล่อมเจ้านายที่ยังทรงพระเยาว์ตลอดลงมาจนรัชกาลที่ ๔ ข้าหลวงท่องจำกันต่อๆ มา ไม่ปรากฏว่า ใครเคยจดรวบรวมลงไว้ จนมาได้เห็นฉบับที่หอพระสมุดฯ ได้มา ฉบับนี้เป็นลายมืออาลักษณ์เขียนเส้นหรดาล เมื่อในรัชกาลที่ ๔ มีบทเห่กล่อมบรรทม เรื่อง ๑ เรื่องจับระบำ เรื่อง ๑ เรื่องพระอภัยมณี เรื่อง ๑ เรื่องกากี เรื่อง ๑ มีเนื้อความปรากฏข้างท้ายว่า เจ้านายพระองค์ใดพระองค์หนึ่งรับสั่งให้ผู้ที่ท่องจำไว้ได้บอกให้จดถวาย มิใช่คัดจากหนังสือที่มีอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น บทเห่จึงไม่ครบบริบูรณ์ทุกบทที่แต่งกันไว้แต่ก่อน..."

http://kanchanapisek.or.th/kp6/pictures39/b39p65a.jpg

พระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่มีมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพระราชโอรส ๒ พระองค์สุดท้ายประสูติ คือ พระองค์เจ้าชายอุรุพงศ์รัชสมโภช และสมเด็จเจ้าฟ้าชายประชาธิปกศักดิเดชน์* ต่อมารัชสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ทรงพระครรภ์ ทรงมั่นพระทัยว่า จะเป็นพระราชโอรส จึงทรงพระราชนิพนธ์บทเห่กล่อมพระบรรทมเพื่อเตรียมไว้สำหรับพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ แต่เมื่อพระราชธิดา คือ สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี** ประสูติได้ ๑ วัน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เสด็จสวรรคต จึงไม่ได้มีการจัดพระราชพิธีดังกล่าว และบทเห่กล่อมพระบรรทม ที่พระราชนิพนธ์ไว้ก็ไม่มีโอกาสได้ใช้

* พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอุรุพงศ์รัชสมโภช ประสูติเมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๓๖ และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชสมภพเมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๓๖

** สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี

http://kanchanapisek.or.th/kp6/pictures39/b39p67.jpg

ในรัชกาลที่ ๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมีพระราชโอรสและพระราชธิดา ๔ พระองค์ แต่มีพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่พระราชโอรสและพระราชธิดา ๓ พระองค์ เนื่องจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ประสูติ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จึงไม่มีพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่




http://kanchanapisek.or.th/kp6/pictures39/b39p66.jpg

พระราชโอรสและพระราชธิดา ๓ พระองค์ที่มีการจัดพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ ได้แก่

๑. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณฯ (สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ  สยามมกุฎราชกุมาร)

๒. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ (สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี)

๓. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ (สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี)

นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ พระราชทานพระเจ้าหลานเธอทั้ง ๔ พระองค์ คือ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา พระธิดา ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ พระธิดา ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี และนาวาอากาศเอก วีระยุทธ ดิษยะศริน และเมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ พระโอรสในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ อย่างไรก็ดี พระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ในรัชกาลปัจจุบัน ไม่ปรากฏ การเห่กล่อมพระบรรทมในหมายกำหนดการพระราชพิธี คงมีแต่การถวายบทมนตร์เห่กล่อมโดยพราหมณ์เท่านั้น

http://kanchanapisek.or.th/kp6/pictures39/b39p68.jpg

การประกอบพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา


ลักษณะและเนื้อหาของบทเห่กล่อมพระบรรทม

บทเห่กล่อมพระบรรทมเป็นเพลงกล่อมเด็กของหลวง ซึ่งแต่งขึ้นเพื่อใช้ในพระราชพิธี และเห่กล่อมพระราชโอรสหรือพระราชธิดา ให้บรรทมหลับ ผู้แต่งคือ กวีแห่งราชสำนัก ซึ่งมีทั้งพระราชวงศ์และข้าราชการ ได้คัดเลือกถ้อยคำที่ไพเราะและสละสลวย มาเรียงร้อยเป็นบทกวีตามแบบแผนของลักษณะคำประพันธ์ หรือฉันทลักษณ์ เพื่อให้มีความพิเศษสมกับฐานันดรศักดิ์ และพระอิสริยยศ ดังนั้น บทเห่กล่อมพระบรรทมจึงมีลักษณะและเนื้อหาที่แตกต่างไปจากเพลงกล่อมเด็กของชาวบ้าน ดังนี้

๑. แต่งเป็นบทร้อยกรอง โดยใช้ลักษณะคำประพันธ์ ๓ ประเภท คือ กาพย์ยานี ๑๑ กาพย์ฉบัง ๑๖ และกลอนสุภาพ ส่วนใหญ่ กวีมักแต่งโดยยึดรูปแบบฉันทลักษณ์ค่อนข้างเคร่งครัด แต่มีบ้างที่จำนวนคำในแต่ละวรรคอาจน้อยกว่าหรือมากกว่าแบบแผนก็ได้ ดังตัวอย่าง

http://kanchanapisek.or.th/kp6/pictures39/b39p69a.jpg



http://kanchanapisek.or.th/kp6/pictures39/b39p70a.jpg

๒. เป็นบทร้องที่แต่งขึ้นเฉพาะ เพื่อการเห่กล่อม ขับร้องถวายพระราชโอรส พระราชธิดาของพระมหากษัตริย์เท่านั้น ผู้แต่งจึงเลือกใช้ถ้อยคำที่สละสลวย ไพเราะเป็นภาษากวี ใช้คำศัพท์หลากหลายแทนคำที่มีความหมายเดียวกัน เพื่อให้มีคำสัมผัสคล้องจองกัน เช่น

พระจันทร์ - ดวงเดือน บุหลัน พระจันทรา พระจันทร ศศิธร

นก - วิหค สกุณา สกุณชาติ สกุณี ปักษี ปักษา

ดอกไม้ - ผกา มาลา มาลี สุมาลี สุมาลัย บุปผา

นอกจากนี้ คำร้องที่กล่าวถึงพระราชโอรสและพระราชธิดา ผู้แต่งใช้คำเรียกขานที่แสดงความจงรักภักดี ยกย่องให้เกียรติ และใช้คำราชาศัพท์เมื่อกล่าวถึงด้วย ดังตัวอย่าง

http://kanchanapisek.or.th/kp6/pictures39/b39p70b.jpg

๓. ทำนองที่ใช้เห่กล่อม ผู้ร้องบทเห่กล่อมพระบรรทมคือ พระพี่เลี้ยงนางนม หรือข้าหลวงซึ่งเป็นนักร้อง โดยมีวงมโหรีบรรเลงประกอบ ส่วนทำนองที่ใช้เห่กล่อมในพระราชพิธี พระยาภูมีเสวินได้พยายามสอบถามจากพระพี่เลี้ยง สมัยรัชกาลที่ ๕ และข้าหลวงผู้เคยปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับการเห่กล่อมแล้ว สันนิษฐานว่า ทำนองที่ใช้เห่กล่อมพระบรรทมนั้น เป็นทำนองสรภัญญะใหญ่ คือ ยืดทำนองจากสรภัญญะธรรมดาไปอีกเท่าตัว (ทำนองสรภัญญะธรรมดา เป็นทำนองที่สวดบูชาคุณพระรัตนตรัย ซึ่งขึ้นต้นว่า "องค์ใดพระสัมพุทธ  สุวิสุทธสันดาน ...") ส่วนการเห่กล่อมปกติ เมื่อประทับอยู่ในพระตำหนัก พระพี่เลี้ยงนางนม หรือนักร้องคงใช้ทำนองเพลงไทยอัตรา ๒ ชั้น เช่น เพลงนกจาก เพลงลมพัดชายเขา เพลงดอกไม้ไทร เพลงหกบท ฯลฯ มาร้องบทเห่กล่อมต่างๆ ต่อเนื่องไปจนกว่าจะบรรทมหลับ ในรัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบรรจุทำนอง "เพลงปลาทอง" สำหรับบทเห่กล่อมพระบรรทม ซึ่งทรงพระราชนิพนธ์ไว้ล่วงหน้าก่อนที่พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี จะมีพระประสูติกาลพระราชธิดา คือ สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี

๔. จุดประสงค์ของบทเห่กล่อมพระบรรทม ในเนื้อหามุ่งเน้นให้พระราชโอรสและพระราชธิดาบรรทมหลับไปด้วยความสุขใจ เช่นเดียวกับเพลงกล่อมเด็กของชาวบ้านทั่วไป จะแตกต่างกันตรงที่ผู้ร้องกล่อมไม่ใช่พ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ แต่เป็นพระพี่เลี้ยงนางนม หรือข้าหลวง ซึ่งถ่ายทอดความรู้สึกในฐานะผู้มีความจงรักภักดี เรียกขานด้วยถ้อยคำที่ยกย่องเทิดทูน  ชมโฉม ปลอบประโลมให้บรรทม ขอร้องไม่ให้ทรงเล่นหรือทรงกันแสง (ร้องไห้) (ดูบทเห่ตัวอย่างในข้อ ๑ และ ๒) และมักต่อด้วยบทร้องที่พรรณนาถึงธรรมชาติ เช่น ชมพระจันทร์ ชมดาว ชมนก ชมดอกไม้ ดังตัวอย่างจากบางตอนของบทเห่

http://kanchanapisek.or.th/kp6/pictures39/b39p71a.jpg

๕. เนื้อหาของบทเห่กล่อมพระบรรทม นำมาจากบางตอนของวรรณคดีเรื่องต่างๆ ได้แก่ พระอภัยมณี อิเหนา โคบุตร กากี อนิรุทธ์ และเรื่องจับระบำ ซึ่งเล่าถึงเทวดานางฟ้าบนสวรรค์ร่ายรำเล่นในฤดูฝน และรามสูรไล่ชิงดวงแก้วจากนางเมขลา


http://kanchanapisek.or.th/kp6/pictures39/b39p71b.jpg


http://kanchanapisek.or.th/kp6/pictures39/b39p72a.jpg

http://kanchanapisek.or.th/kp6/pictures39/b39p72b.jpg

บทเห่กล่อมจากวรรณคดีไม่เพียงแต่มีความไพเราะของถ้อยคำที่เรียงร้อยให้คล้องจองกัน หากแต่บทร้องยังมีความยาวกว่าบทเห่กล่อมธรรมดา ช่วยให้ร้องเห่กล่อมได้เป็นเวลานาน จนกว่าพระราชโอรสหรือพระราชธิดา จะบรรทมหลับสนิทไป

ภาพสะท้อนของสังคมอาจจะแตกต่างกันไปตามสภาพของท้องถิ่น  เราจึงพบว่าเพลงกล่อมเด็กมีอยู่ทุกภูมิภาคของไทย และเป็นวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงดูเด็กในสังคมไทย ซึ่งหากศึกษาจะพบว่า

1.เพลงกล่อมเด็กมีหน้าที่กล่อมให้เด็ก หลับโดยตรง ดังนั้นจึงเป็นเพลงที่มีทำนองฟังสบาย แสดงความรักใคร่ห่วงใยของผู้ใหญ่ที่มีต่อเด็ก

2.เพลงกล่อมเด็กมีหน้าที่แอบแฝงหลายประการ อาทิ

    -การสอนภาษา เพื่อให้เด็กออกเสียงต่าง ๆ ได้โดยการหัดเลียนเสียง และออกเสียงต่าง ๆ ได้เร็วขึ้น

    -ถ่าย ทอดความรู้ต่าง ๆ ได้แก่ เรื่องราวเกี่ยวกับธรรมชาติ การดำเนินชีวิต การทำมาหากินของสังคมตนเอง การสร้างค่านิยมต่าง ๆ รวมทั้งการระบายอารมณ์และความในใจของผู้ร้อง

https://sites.google.com/site/phelngklxmdekpimchanok/_/rsrc/1382153611373/prawati-khwam-pen-ma/khwam-hmay-khxng-phelng-klxm-dek/1.jpg?height=320&width=312

นอกจากนี้พบว่า ส่วนมากแล้วเพลงกล่อมเด็ก มักมีใจความแสดงถึงความรักใคร่ห่วงใยลูก ซึ่งความรักและความห่วงใยนี้ แสดงออกมาในรูปของการทะนุถนอมกล่อมเกลี้ยงเก็บเด็กไว้ใกล้ตัว  บทเพลงกล่อมเด็กจึงเป็นบทเพลงที่แสดงอารมณ์ ความรักความผูกพันระหว่างแม่-ลูก ซึ่งแต่ละบทมักแสดงถึงความรักความอาทร ทะนุถนอม ที่แม่มีต่อลูกอย่างซาบซึ้ง

บรรณานุกรม

https://sites.google.com/site/phelngklxmdekpimchanok/prawati-khwam-pen-ma/khwam-hmay-khxng-phelng-klxm-dek

http://kanchanapisek.or.th/kp6/sub/book/book.php?book=39&chap=2&page=t39-2-infodetail02.html

https://sites.google.com/site/phelngklxmdekpimchanok/prawati-khwam-pen-ma

http://kanchanapisek.or.th/kp6/sub/book/book.php?book=39&chap=2&page=t39-2-infodetail03.html


บทความที่ได้รับความนิยม